สะเก็ดเงิน จะหายได้ไหม จะเหลือรอยแผลเป็นหรือไม่

โดยธรรมชาตโรคสะเก็ดเงินไม่หายขาด ในผู้ป่วยรายที่ทราบปัจจัยเสี่ยงส่งเสริม เมื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้นอาการโรคจะทุเลาได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ปัจจัยส่งเสริมไม่ทราบ จึงมักเป็นๆ หายๆ โดยมีระยะสงบปลอดรอยผื่นของโรคนานแตกต่างกันในแต่ละบุคคล การดำเนินของโรคนั้นพบว่าความรุนแรงของโรคในแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีผื่นจำนวนน้อยเป็นเฉพาะที่และเป็นเรื้อรังตลอดชีวิตมีน้อยราย ที่มีผื่นลามกระจายทั่วโดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีการรักษาให้เหมาะสมในแต่ละราย รอยโรคสะเก็ดเงินจะดูน่ากลัว แต่สามารถรักษาให้ทุเลาได้ การให้ยารักษาจะช่วยเร่งให้ผื่นหายเร็วขึ้น ขั้นตอนการดำเนินของโรคเมื่อผื่นทุเลาเองหรือผื่นตอบสนองต่อการรักษา ในระยะแรกผื่นจะมีขุยน้อยลง ผื่นราบลงและสีแดงของผื่นจะค่อยจางลงตามลำดับ เมื่อผื่นสงบผิวหนังจะกลับมาเหมือนผิวปกติ

การใช้ชีวิตอยู่กับโรคสะเก็ดเงินอย่างมีสติควรทำอย่างไร
– มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคสะเก็ดเงินอย่างถูกต้อง เช่นทราบว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเฉพาะตัว โดยลักษณะรอยโรค ความรุนแรง การดำเนินของโรค และปัจจัยกระตุ้นการกำเริบของโรคในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกัน
– ยังไม่มียาวิเศษหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาดแต่มียาหลายขนานที่ช่วยให้ผื่นทุเลา
– การตอบสนองต่อยาแต่ละขนานในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกัน แพทย์และผู้ป่วยควรปรึกษาร่วมกันเพื่อปรับแผนการรักษา ให้ได้ผลดีที่สุดและต้องเลือกวิธีการรักษาที่ผู้ป่วยทำได้และมีความพึงพอใจ
– ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยโรคอื่น ประวัติการใช้ยาทุกชนิดหรือการรักษาทางเลือกที่ผู้ป่วยใช้อยู่เพราะอาจมีผลต่อการดำเนินของโรค และเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดพิษของยาซึ่งอาจออกฤทธิ์เสริมกัน
– การรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิต มองโลกในแง่ดี ถ้ามีปัญหาสงสัยต้องปรึกษาแพทย์อย่าเกรงใจ การรักษาจะประสบความสำเร็จเมื่อแพทย์และผู้ป่วยไว้วางใจซึ่งกันและกัน
– โรคสะเก็ดเงินนั้นมีการดำเนินของโรคเรื้อรัง เป็นโรคเฉพาะตัว ไม่ติดต่อคนใกล้ชิด ควรอธิบายให้ครอบครัวและผู้ใกล้ชิดเข้าใจและควรพาผู้ใกล้ชิดมาพบแพทย์ด้วยเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างความมั่นใจว่าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
– การมีเพศสัมพันธ์ ในผู้ป่วยซึ่งมีเฉพาะผื่นจะไม่มีปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ และถ้าสามีหรือภรรยาให้กำลังใจซึ่งกันและกันจะยิ่งทำให้ครอบครัวมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น แต่ถ้ามีอาการปวดข้ออักเสบร่วมด้วยอาจทำให้การมีเพศสัมพันธ์ไม่ราบรื่นและเกิดปัญหาทางด้านจิตใจกับคู่สมรสได้ จึงต้องปรับความเข้าใจหาทางออกให้ดำรงชีวิตมีความราบรื่น
– ครอบครัวและเพื่อนควรมีความเข้าใจช่วยเสริมกำลังใจ การหมกหมุ่นกังวลกับโรคจะมีผลต่อสุขภาพจิตทำให้เศร้าหมอง ซึมเศร้า โรคสะเก็ดเงินจะควบคุมยากขึ้น
– ดำรงชีวิตแบบมีสติ ไม่ประมาท งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุราหรือสิ่งเสพติดพักผ่อนออกกำลังกายให้พอเหมาะ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมอารมณ์ ลดความเครียด มีความสุขกับการทำงานมีงานอดิเรกที่ชอบ และการเจริญสติปัญญาให้จิตอยู่กับปัจจุบัน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตกับโรคสะเก็ดเงินอย่างสงบ

ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง

โรคผิวหนังอย่างโรคสะเก็ดเงินนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพผิวของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยต้องทรมานกับอาการผื่นสีแดงหนา และอาการคันที่คอยรบกวนแล้ว ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายได้ ทำได้แค่เพียงกดอาการของโรค ไม่ให้แสดงอาการ หากมีสิ่งใดมากระตุ้น ก็จะทำให้อาการของโรคนั้นกลับมาได้เสมอ 7 ปัจจัยกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน ที่พบได้บ่อย เพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบ และสามารถหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นเหล่านี้ได้

โรคสะเก็ดเงิน นั้นคือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เกิดอาการผื่นแดงหนา เป็นรอยขุยสีขาวๆ คล้ายกับรังแค เป็นสะเก็ด เกิดขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย และอาจมีอาการคันร่วมด้วย โรคสะเก็ดเงินนั้นเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม และเชื้อโรคต่างๆ โจมตีเซลล์ของตัวเองเพราะเข้าใจว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และส่งผลให้เกิดอาการที่ผิวหนัง เป็นโรคสะเก็ดเงินอย่างที่เห็น

โรคสะเก็ดเงินนี้สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผิวหนัง อีกทั้งยังไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ทำให้เพียงแค่ให้ยาเพื่อกดอาการของโรค ทำให้อาการของโรคหายไปชั่วคราว รอการปะทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หากผู้ป่วยเจอตัวกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน

ปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้ สะเก็ดเงินกลับมาปะทุอีกครั้งได้ อาจมีดังต่อไปนี้

ความเครียด
ความเครียดเป็นปัญหาสำคัญ ที่อาจกระตุ้นทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินนั้นกลับคืนมาได้ เมื่อเราเกิดความเครียด ร่างกายของเราอ่อนแอลง ระบบภูมิคุ้มกันก็ทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ ส่งผลให้เรามีโอกาสป่วยได้ง่าย และทำให้โรคแฝงที่เราเคยเป็น เช่น โรคเริม หรือโรคสะเก็ดเงิน มีโอกาสกลับมาออกอาการได้อีกครั้ง

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินนั้นควรระมัดระวังเรื่องความเครียดสะสม พยายามหาทางผ่อนคลายอารมณ์ ไม่ให้ตัวเองเครียดมากเกินไป เช่น ทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือลองฝึกสมาธิด้วยการนั่งสมาธิ ก็เป็นหนทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับความเครียดได้เป็นอย่างดี

อากาศแห้งและเย็น
สภาพอากาศหนาวและแห้ง สามารถส่งผลกระทบต่อสภาพผิว ทำให้ผิวของเราขาดความชุ่มชื้น ผิวแห้ง หยาบกร้าน และอาจกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรคอยรักษาความชุ่มชื้นของผิวอยู่เสมอ เช่น ทาโลชั่นหลังจากอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำนาน ใช้สบู่และครีมบำรุงผิวที่ปราศจากน้ำหอม เพื่อช่วยลดอาการระคายเคืองผิว และหากอาจใช้เครื่องทำความชื้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการคันที่ผิวหนังเนื่องจากอากาศแห้งได้เช่นกัน

การติดเชื้อ
การติดเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด เจ็บคอ จากเชื้อไวรัส การติดเชื้อรา หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ล้วนแล้วแต่ก็สามารถกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกลับมากำเริบได้ทั้งสิ้น ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรระมัดระวัง และคอยสังเกตสัญญาณของการติดเชื้อเหล่านี้ให้ดี และรีบติดต่อแพทย์เพื่อทำการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจมาพร้อมกับการติดเชื้อนั้น

ยาบางชนิด
ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (beta-blockers) ที่ใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคไข้มาลาเรีย ยาสเตียรอยด์ (steroid) หรือยาแก้อักเสบในกลุ่ม NSAIDs อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และส่งผลให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้

แผลที่ผิวหนัง
บาดแผลที่ผิวหนังต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดจากการโดนแมลงกัด รอยถลอก มีดบาด หรือการเกา ที่สร้างความเสียหายให้ผิวหนัง ก็มีโอกาสที่จะกระตุ้นให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบได้เช่นกัน นอกจากนี้ กิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน เช่น การโกนหนวด ก็อาจทำให้เกิดแผลบนผิวหนัง และกลายเป็นตัวกระตุ้นโรคสะเก็ดเงินได้อีกด้วย

การสัก
การสักนั้นจะทำให้ผิวหนังเสียหาย และเกิดแผลจากการโดนเข็มจิ้ม ทำให้อาจกระตุ้นการกำเริบของโรคสะเก็ดเงินได้ สีที่ใช้ในการสักก็อาจจะทำให้ผิวเกิดความระคายเคือง หรืออาจนำไปสู่การติดเชื้อ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สามารถกระตุ้นโรคสะเก็ดเงินได้เช่นกัน

ยาคุมกำเนิด
มีงานวิจัยที่พบว่า การคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือแผ่นแปะคุมกำเนิด อาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย และกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้